รู้ทันมะเร็งกับ จี-เฮิร์บ

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

โรคที่มีเนื้องอกร้ายชนิดหนึ่งเกิดขึ้นที่ต่อมน้ำเหลืองหรือโครงสร้างต่อม ซึ่งระบบน้ำเหลืองก็เป็นระบบหนึ่งของภูมิคุ้มกัน ประกอบไปด้วย อวัยวะน้ำเหลือง ได้แก่ ม้าม และไขกระดูก ซึ่งภายในอวัยวะเหล่านี้จะเต็มไปด้วยน้ำเหลือง มีหน้าที่นำสารอาหารและเซลล์เม็ดเลือดขาวไปทั่วร่างกาย และเมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวเหล่านี้เกิดความผิดปกติ จึงทำให้เกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองขึ้นมา เพราะต่อมน้ำเหลืองมีอยู่ทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น คอ รักแร้ ข้อพับแขน ข้อพับขา ช่องอกหรือช่องท้อง แต่ยังไงก็ตามเซลล์น้ำเหลืองก็ยังอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายด้วย ไม่ว่าจะเป็นลำไส้ หรือกระเพาะ จึงสามารถเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้หมดทุกที่

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการคาดการณ์เบื้องต้นพบว่ามีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  1. ปัจจัยทางเคมี วัตถุทางเคมีที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น สารเคมีปราบศัตรูพืช น้ำยาย้อมผม เป็นต้น
  2. ปัจจัยทางภูมิคุ้มกัน ผู้ที่มีสมรรถภาพภูมิคุ้มกันโรคลดลง เช่น โรคเอดส์ การปลูกถ่ายอวัยวะ โรคไขข้ออักเสบ เป็นต้น
  3. ปัจจัยทางพันธุกรรม การเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น มีความชัดเจนที่เกิดมาจากกรรมพันธุ์ทางครอบครัว เช่น พี่น้องอาจเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองตามลำดับ หรือเป็นพร้อมกัน

สาเหตุจากไวรัส การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัส HIV เป็นต้น

ปัจจุบันมีการตรวจวินิจฉัยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ดีขึ้นมาก ส่งผลทำให้อัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น เนื่องจากการรักษาที่ดีขึ้น สำหรับวัยที่ตรวจพบมะเร็งต่อมน้ำเหลือง สามารถพบได้ในกลุ่มวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 20 ปีถึง 40 ปี ทั้งนี้ก็ยังมีการตรวจพบในผู้สูงอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป

 

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด หนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย โดยส่วนมากผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดจะไม่ค่อยมีอาการแสดงในระยะแรก แต่จะมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเกิดโรคเมื่อมีการเจริญเติบโตของมะเร็งมากขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม มะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

มะเร็งปอดเกิดจากอะไร

มะเร็งปอดเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งสามารถตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมากและแพร่กระจายไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย โดยมะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) : เซลล์เจริญเติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตรวดเร็ว ซึ่งพบได้ 10 – 15%

มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer) : แพร่กระจายได้ช้ากว่าและสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัด หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกๆ โดยมะเร็งชนิดนี้พบได้ประมาณ 85 – 90%

 

มะเร็งลำไส้

มะเร็งลำไส้ใหญ่ ถือเป็นภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยทำงาน โดยอาการเตือนที่มักปรากฏให้เห็นของผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น อุจจาระมีเลือดปน น้ำหนักลด ลำไส้อักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถพบได้ในอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยส่วนมากมักมีอายุระหว่าง 60-65 ปี ซึ่งกว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะทราบว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็มักพบในระยะที่เป็นมากแล้ว ซึ่งทำให้มีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตสูง ดังนั้น การตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมาพบแพทย์ทันทีที่เริ่มมีอาการผิดปกติเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด

ปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่แน่ชัด แต่พบว่าอาจมีปัจจัยมาจากอาหารและสิ่งแวดล้อม โดยการรับประทานอาหารที่ให้พลังงาน ไขมันและน้ำตาลสูง ผู้ที่มีดัชนีมวลกายเกินมาตรฐาน หรือโรคอ้วน เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ยังพบปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า 2 คนขึ้นไป เคยมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ เคยเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง และการสูบบุหรี่

 

มะเร็งเต้านม

เต้านม อวัยวะที่แสดงถึงลักษณะทางเพศหญิงอย่างหนึ่ง ประกอบไปด้วยต่อมน้ำนม ท่อน้ำนม ไขมัน เส้นเลือด ต่อมน้ำเหลือง เต้านมวางอยู่บนกล้ามเนื้อหน้าอกและซี่โครง มีหน้าที่ในการสร้างน้ำนม โดยเต้านมจะขยายขนาดตอบสนองกับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งผลิตจากรังไข่เป็นหลัก

มะเร็งเต้านมเกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนมทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้องอก โดยหากไม่ได้รับการรักษา มะเร็งจะโตขึ้นและกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ก่อนที่จะกระจายไปอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก จนเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต สำหรับประเทศไทยนั้นข้อมูลจาก Globocan ปี 2020 มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยมากที่สุดในเพศหญิง (22.8%) ตามมาด้วยมะเร็งลำไส้ (10.7%) และมะเร็งปากมดลูก (9.4%) ตามลำดับ

ปัจจัยเสี่ยง

เพศหญิง (มีโอกาสพบในเพศชายเพียง 1% ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด)

อายุที่มากขึ้น (เริ่มพบได้บ่อยตั้งแต่อายุ 40-50 ปี)

ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่กินยาฮอร์โมนทดแทน

การมีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ เนื่องจากอาจสัมพันธ์กับมะเร็งเต้านมชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งพบได้

 อาการของมะเร็งเต้านม

  1. คลำพบก้อนที่เต้านม (90%)
  2. ความผิดปกติของหัวนม ได้แก่ มีการดึงรั้งจนหัวนมบุ๋มลง มีน้ำเหลือง/เลือดออกทางหัวนม
  3. คลำพบต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ (5-10%)

 

มะเร็งตับ

มะเร็งตับ หรือ Hepatocellular carcinoma คือ โรคที่เกิดจากเซลล์ตับที่ผิดปกติ เกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์มากกว่าปกติ จนเกิดเป็นก้อนในตับ และ อาจมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด กระดูก

สาเหตุเกิดจากอะไร

มะเร็งตับส่วนใหญ่เกิดจาก โรคตับแข็ง ซึ่งอาจจะเกิดจากสาเหตุได้หลากหลาย เช่น การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ตับอักเสบจากไขมันพอกตับ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี การได้รับสารบางชนิด เช่น อะฟลาท็อกซิน ซึ่งมาจากเชื้อรา ที่ปนเปื้อนในอาหารแห้ง ธัญพืช ถั่วเหลือง ถั่วลิสง นอกจากนี้มะเร็งตับยังอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง หรือ ตับอักเสบจากไขมันเกาะตับเป็นเวลานาน โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีภาวะตับแข็งก็ได้

อาการและอาการแสดงของมะเร็งตับมีอะไรบ้าง

ปวดท้องโดยเฉพาะใต้ชายโครงขวา หรือบริเวณลิ้นปี่ ท้องบวมโต มีน้ำในช่องท้อง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตัวเหลือง ตาเหลือง อาเจียนเป็นเลือด ตรวจพบการทำงานของตับผิดปกติ

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงโรคมะเร็งตับ

  1. ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือ ไวรัสตับอักเสบซี
  2. ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  3. ผู้ป่วยโรคตับแข็ง
  4. มีภาวะอ้วน ตับอักเสบจากไขมันพอกตับ